Wednesday, August 15, 2018

การเรียนการสอนตามสภาพจริง (Authentic instruction)

การเรียนการสอนตามสภาพจริง (Authentic instruction)

ความเป็นมา     
การจัดการเรียนรู้ตามสภาพจริง เป็นนวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอนซึ่งในปี ค.ศ. 1990 นักการศึกษาในสหรัฐอเมริกาต่างตระหนักว่านวัตกรรมการเรียนการสอนที่ผ่านมาไม่สามารถพัฒนาคุณภาพของการเรียนการสอนหรือแม้แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนได้ จึงมีการปฏิรูปการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยมุ่งเป้าหมายของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนตามสภาพจริง กล่าวคือ เป็นผลสัมฤทธิ์ที่มีความหมายสำหรับผู้เรียน โดยได้กำหนดข้อบ่งชี้ของผลสัมฤทธิ์ตามสภาพจริง คือ ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ที่มีความหมาย ผู้เรียนเป็นผู้ใช้วิธีการสืบสอบในเนื้อหาวิชา เพื่อสร้างความหมายและผู้เรียนจะต้องมีเป้าหมายในการทำงานที่แสดงถึงสมรรถนะที่มีคุณค่าหรือมีความหมายที่บ่งบอกในความสำเร็จของการเรียน ( Newmann et al., 1995)
การเรียนการสอนตามสภาพจริง หรือการเรียนรู้แท้ ( authentic instruction) เป็นการเรียนที่ผู้เรียนจะเป็นผู้คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมิน ตัดสินใจได้เอง มีกระบวนการที่ใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการคิดอย่างเป็นระบบ ผู้เรียนเป็นผู้อธิบาย นำเสนอได้อย่างมีหลักวิชาการ ด้วยการเรียบเรียงด้วยตนเอง อธิบายได้อย่างครอบคลุมและชัดเจน มีกระบวนการที่ดี มีความคิดรวบยอด และหลักการของวิชาที่เรียนรู้ รวมทั้งผู้เรียนสามารถนำไปใช้ปฏิบัติในชีวิตจริงได้ นำความรู้ต่างๆ ไปพัฒนาคุณภาพชีวิต คุณภาพงาน คุณภาพสังคม สิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นปกติวิสัยจนเป็นหนึ่งเดียวกัน (โกวิท ประวาลพฤกษ์,2545: 31)

ทฤษฏีและแนวคิด                   
องค์ประกอบสำคัญของการเรียนการสอนตามสภาพจริง         
Newman et al. 1995 ได้ทำการวิจัยที่ศูนย์การวิจัยทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยวิสคอนซินพบว่าผู้เรียนจะประสบความสำเร็จได้เมื่อใช้ความรู้ในการแก้ไขปัญหาและทดสอบสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องและได้สร้างมาตรฐานเพื่อใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการออกแบบการเรียนการสอนดังนี้
1.ผู้เรียนได้คิดขั้นสูง (higher-order thinking) การเรียนการสอนตามสภาพจริง จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้จัดกระทำข้อมูลและใช้ความคิดในการสังเคราะห์ การสรุปนัยทั่วไป การอธิบายและการสรุปรวมเพื่อสร้างเข้าใจและความหมายใหม่ๆสำหรับผู้เรียน              
2.ผู้เรียนได้ใช้ความรู้ระดับลึกมากกว่าความรู้พื้นฐาน (depth of  knowledge) การเรียนการสอนตามสภาพจริงจะต้องให้ผู้เรียนเข้าถึงแก่นความคิดของเนื้อหาวิชาใช้ความรู้ที่มากกว่าความรู้พื้นฐานโดยต้องมีการสำรวจความเชื่อมโยงดูความสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องซึ่งมีความซับซ้อน
3.ผู้เรียนได้มีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเนื้อหาสาระวิชาที่เรียน (substantive conversation การเรียนการสอนตามสภาพจริง จะต้องให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ในเนื้อหาวิชากับครูผู้สอนและกลุ่มผู้เรียนด้วยกัน เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจในประเด็นต่างๆมากขึ้น
4.ผู้เรียนได้รับการสนับสนุนทางสังคม (social support for student achievement) การเรียนการสอนตามสภาพจริงจะต้องสร้างบรรยากาศที่ส่งผลดีแก่การเรียนรู้ได้แก่ การยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน(mutual respect)ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนหรือผู้เรียนกับผู้อื่นเกิดความรู้สึกที่ดีจะต้องสร้างคุณค่าของตนเองโดยเพิ่มความพยายามให้มากขึ้นผู้สอนต้องคาดหวังว่าผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ความรู้และทักษะที่เป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญได้ ปฏิกิริยาของผู้สอนจึงจะแสดงออกมาในวิถีทางที่เป็นการเสริมแรงแก่ผู้เรียน
5.ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงการเรียนรู้จากการเรียนสู่โลกภายนอก (connections to the world beyond the classroom)การเรียนการสอนตามสภาพจริงจะต้องเชื่อมโยงความรู้ในเนื้อหาวิชาความรู้สู่ปัญหาสาธารณะ หรือ ประสบการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสามารถนำความรู้ที่เรียนรู้ในชั้นเรียนอธิบายปัญหาต่างๆนอกชั้นเรียนได้

แนวทางการจัดการเรียนรู้                         
Newman 1995 ได้นำเสนอหลักการหรือข้อคำนึงในการนำแนวคิดการเรียนการสอนตามสภาพจริงไปใช้ให้มีประสิทธิภาพดังนี้
1.ครูต้องคุ้นเคยกับการยอมรับและการใช้ความรู้เดิมของผู้เรียนซึ่งการดูดซึมข้อมูลใหม่ของผู้เรียนขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลนั้นช่วยให้อธิบายหรือขยายประสบการณ์เดิมของตนเองอย่างมีความหมายได้มากเพียงใด
2.ครูต้องตระหนักว่าผู้เรียนเป็นนักคิดที่ซับซ้อนที่พยายามสร้างความหมายของโลกครูจะต้องเน้นในการสร้างโอกาสสำหรับการคิดระดับสูง และความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากกว่าการเรียนรู้แบบธรรมดาและการได้ความรู้กว้างๆอย่างเพียงผิวเผิน
3.ครูต้องให้โอกาสที่หลากหลายสำหรับผู้เรียนในการใช้การสนทนาการเรียนและรูปแบบอื่นๆของกระบวนข้อมูลข่าวสาร
4.ครูต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวกผู้แนะนำหรือผู้นิเทศที่กระตุ้นให้ผู้เรียนทำงานในการเรียนรู้มากกว่าการทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารหรือข้อเท็จจริง
5.ผู้เรียนจะต้องใช้ความพยายามในการสร้างความเข้าใจและมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ครูและผู้เรียนจะต้องร่วมมือ เชื่อใจ และตั้งความหวังสำหรับความสำเร็จของตนเองในระดับสูง                                          
กระบวนการการเรียนรู้ตามสภาพจริง
               กระบวนการการเรียนรู้ตามสภาพจริงเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจชีวิตของผู้อื่นหรือเรียกว่ากระบวนการศึกษาข้อมูลจากสภาพจริง หัวใจสำคัญของการเรียนรู้ตามสภาพจริงคือความเข้าใจวิถีชีวิต เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีความเข้าใจชีวิตคนอื่นซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้สุขภาพ พฤติกรรมของคนเพื่อการแก้ปัญหา กิจกรรมการเรียนจึงต้องสร้างเงื่อนไขให้ผู้เรียนมีโอกาส สัมผัส เก็บข้อมูล คิดทบทวน เป็นการศึกษาสภาพ  
 มีพื้นฐานที่สำคัญ 3 ประการ คือ
1.กระบวนการปรับทัศนคติในการเรียนรู้ความจริง
              เป็นกระบวนการสะท้อนความคิดเดิมของผู้เรียนออกมาโดยการกระตุ้นให้ผู้เรียน เรียนรู้และเข้าใจความคิดของตนเอง และสะท้อนให้เห็นถึงความคิดเดิมที่ส่งผลทำให้เกิด “ความคลาดเคลื่อน” ที่เกิดขึ้น ซึ่งกระบวนการปรับทัศนคติของผู้เรียนต้องมีการกระทำตลอดเวลาในการเรียนรู้ การที่ผู้เรียนรับรู้สภาพจริงได้มากขึ้น จะช่วยกระตุ้นความตื่นตัวอยากรู้ เห็นคุณค่าของการเรียนรู้ด้วยตนเอง นำไปสู่การเรียนรู้และสร้างความรู้ด้วยตนเองในระยะยาวต่อไป
2. กระบวนการศึกษาความจริงด้วยการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ
             ประกอบด้วยการปฏิบัติการศึกษาความจริงด้วยตนเอง การเรียนในสภาพจริงต้องเรียนรู้และพัฒนาความคิดด้วยตนเอง (ทำด้วยตนเอง) ดังนั้นหากต้องการให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจกับความคิด ชีวิตของชาวบ้าน เพื่อทำความเข้าใจตามสภาพจริงของชาวบ้านที่เป็นอยู่ การเรียนการสอนจึงต้องสร้างเงื่อนไขให้ผู้เรียนได้ลงไปศึกษาข้อมูลและเผชิญกับสถานการณ์จริง เพื่อให้ได้คำตอบที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิดและความรู้สึกที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมการกระทำต่างๆของคน โดยเรียนรู้ผ่านการลองผิดลองถูก จนเกิดการประจักษ์แจ้งด้วยตนเอง 
3. กระบวนการสรุปวิเคราะห์และชี้ประเด็นของครู
            บทบาทของครูมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาการเรียนรู้ของตนเอง ทั้งในเรื่องการปรับทัศนคติและความเข้าใจในสาระที่เรียนรู้(สาระที่เป็นแก่น) ครูผู้สอนเองจึงต้องพัฒนาความสามารถหรือทักษะของตนเองในการสอนตามสภาพจริง


ตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้ตามสภาพจริง
แผนการจัดการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์
กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์                                                 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
เรื่อง มาทำนาฬิกาจำลองกันเถอะ                                                 เวลา 1 ชั่วโมง

สาระสำคัญ                 
ส่วนประกอบของนาฬิกาประกอบด้วย หน้าปัด เข็มสั้น เข็มยาว ชี้แบ่งเวลา และตัวเลข 1 ถึง 12 เข็มสั้นบอกเวลา เข็มยาวบอกชั่วโมงขั้นตอนการทำงานของนาฬิกาจำลอง เตรียมอุปกรณ์ วางแผนออกแบบ เขียนตัวเลข ตัดเข็มนาฬิกา ตกแต่งระบายสี และประกอบนาฬิกาจำลอง

ตัวชี้วัด/จุดประสงค์การเรียนรู้                 
1. นักเรียนบอกส่วนประกอบของนาฬิกาได้                 
2. นักเรียนบอกขั้นตอนการทำงานของนาฬิกาจำลองได้                 
3. นักเรียนทำนาฬิกาจำลองที่มีส่วนประกอบครบถ้วนได้                 
4. นักเรียนทำงานกลุ่มด้วยความสามัคคี                 
5. นักเรียนทำงานด้วยความรับผิดชอบจนแล้วเสร็จ

สาระการเรียนรู้                 
1. ส่วนประกอบของนาฬิกา                 
2. ขั้นตอนการทำนาฬิกาจำลอง

กิจกรรมการจัดการเรียนรู้                 
ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน                 
1. ครูสนทนากับนักเรียนถึงสิ่งที่อยู่รอบๆตัวเราที่บอกเวลาในชีวิตประจำวัน เช่น ไก่ขั้น นกร้อง แสงดวงอาทิตย์ เสียงสัญญาณโรงงานน้ำตาล เสียงกลองเพล เป็นต้น แล้วครูถามนักเรียนเกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้ในการบอกเวลา คืออะไร
2. นักเรียนร่วมร้องเพลงนาฬิกา                 
3. แจ้งเรื่องที่จะเรียน จุดประสงค์การเรียนรู้ และสาระการเรียนรู้                 
ขั้นกิจกรรม                 
1. แบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มๆละ 5-6 คน ครูแจกชุดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง เวลาในชุดกิจกรรมที่ 1 เรื่อง ทำนาฬิกาจำลองกันเถอะ                 
2. ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มปฏิบัติกิจกรรมที่ 1 นาฬิกาของฉัน โดยศึกษาความรู้จากใบความรู้ เรื่อง ส่วนประกอบของนาฬิกา แล้วช่วยกันเขียนส่วนประกอบของนาฬิกาลงในวงกลม ที่กำหนดให้พร้อมระบายสีให้สวยงาม                 
3. ครูสุ่มนักเรียนอธิบายส่วนประกอบของนาฬิกา แล้วให้นักเรียนแต่ละกลุ่มนำเสนอผลงานของตนเองที่ป้ายนิทรรศการของห้องเรียน                  
4. ครูเชิญชวนให้นักเรียนแต่ละกลุ่มปฏิบัติกิจกรรมที่ 2 มาทำนาฬิกาจำลองกันเถอะ โดยให้นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันทำนาฬิกาจำลองกลุ่มละ 1 เรือน โดยใช้อุปกรณ์ที่ครูจัดเตรียมไว้ให้ พร้อมทั้งศึกษาความรู้จากใบความรู้ เรื่อง ขั้นตอนการทำนาฬิกาจำลอง                 
5. นักเรียนร่วมกันวางแผนการทำงาน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในกลุ่ม และลงมือปฏิบัติกิจกรรม ตกแต่งให้สวยงาม แล้วนำนาฬิกาจำลองเจาะจุดกึ่งกลางแล้วยึดด้วยหมุด เพื่อทำให้เข็มนาฬิกาจำลองหมุนได้จริง                 
6. นักเรียนแต่ละกลุ่มตรวจสอบผลงานว่าใช้ได้จริง เพื่อประกวดกับกลุ่มอื่นๆ                 
7 นักเรียนแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนนำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียน แล้วทุกคนร่วมกันลงคะแนนเสียงเพื่อหาข้อสรุปนาฬิกาที่สมบูรณ์ และสวยงามที่สุด                 
ขั้นสรุป                 
1. นักเรียนทุกกลุ่มแลกเปลี่ยนความรู้ เรื่อง ส่วนประกอบของนาฬิกา และเรื่อง การทำนาฬิกาจำลองกันเถอะ กับเพื่อนๆต่างกลุ่ม ครูยกย่องชมเชยการทำงานของทุกกลุ่มและอธิบายเพิ่มเติมในประเด็นที่นักเรียนยังไม่เข้าใจชัดเจน
2. นักเรียนทุกกลุ่มนำนาฬิกาจำลองไปติดไว้ที่ป้ายนิทรรศการในห้องเรียน ซึ่งจะนำไปใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนครั้งต่อไป                 
3. นักเรียนทุกกลุ่มช่วยกันทำความสะอาดสถานที่ปฏิบัติกิจกรรม และเก็บอุปกรณ์เข้าที่ให้เรียบร้อย 
4. นักเรียนทำแบบทดสอบ เรื่อง ทำนาฬิกาจำลองกันเถอะ แล้วตรวจสอบความถูกต้องจากบัตรเฉลยแบบทดสอบ

สื่อการเรียนรู้                 
1. นาฬิกาจริง                 
2. ใบกิจกรรมที่ 1 นาฬิกาของฉัน                 
3. ใบความรู้ที่ 1 เรื่อง ส่วนประกอบของนาฬิกา                 
4. บัตรเฉลยกิจกรรมที่ 1 นาฬิกาของฉัน                 
5. ใบกิจกรรมที่ 2 ทำนาฬิกาจำลองกันเถอะ                 
6. อุปกรณ์การทำนาฬิกาจำลอง                 
7. ใบความรู้ที่ 2 เรื่อง ขั้นตอนการทำนาฬิกาจำลอง                 
8. แบบทดสอบ                 
9. บัตรเฉลยแบบทดสอบ

การวัดและประเมินผล
วิธีการ
เครื่องมือ
เกณฑ์
                 1.       ตรวจผลงาน                      
            1.    แบบประเมินผลงาน                (กิจกรรมที่ 1 , 2)
              1. นักเรียนปฏิบัติได้ถูกต้องมากกว่าร้อยละ 80
                 2.       ทดสอบ
      2.    แบบทดสอบ
        2. นักเรียนทำแบบทดสอบได้ถูกต้องมากกว่าร้อยละ 80
                 3.       สังเกต
      3.    แบบสังเกตการทำงานกลุ่ม
        3. นักเรียนปฏิบัติงานกลุ่มตามกระบวนการได้ถูกต้องมากกว่าร้อยละ 80
                                      
ข้อค้นพบจากการวิจัย                        
จากการจัดการเรียนรู้โดยใช้แนวคิดการเรียนการสอนตามสภาพจริงมีข้อค้นพบจากการวิจัยของ วิทวัฒน์ ขัตตินะมาน (2546) ที่ได้วิจัยการนำเสนอปฏิบัติการทางเลือกของการเรียนการสอนตามสภาพจริง แนววิชาหลักสูตรและการสอนทั่วไปสำหรับนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ ผลการวิจัยพบว่า (1) นิสิตศึกษาศาสตร์กลุ่มทอลองทั้งสามกลุ่ม มีคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องหลักสูตรและการสอน คะแนนเฉลี่ยคามสามารถด้านการวางแผนการสอนและคะแนนเฉลี่ยลักษณะการเรียนรู้ด้วยการนำตนเองหลักการทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (2) นิสิตศึกษาศาสตร์มีความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวปฏิบัติของการเรียนการสอนตามสภาพจริงในระดับมากในทุกข้อ  (3) บรรยากาศของการเรียนการสอนตามสภาพจริงทั้งสามกลุ่ม มีความเป็นสภาพจริงตั้งแต่ระดับปานกลางถึงมากที่สุด และ (4) การศึกษาวิธีปฏิบัติของผู้สอน ความสำเร็จ และอุปสรรคของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน พบว่านิสิตมีความกระตือรือร้นและให้ความสนใจกับกิจกรรมการเรียนการสอนที่ใช้ประสบการณ์การเรียนรู้ตามสภาพจริงมากที่สุด รองลงมาคือประสบการณ์การเรียนรู้สมมติและสุดท้ายคือประสบการณ์การเรียนรู้วิชาการ 
             
โดยสรุป
           
การจัดการเรียนการสอนตามสภาพจริง ผู้สอนควรเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ภายใต้ประสบการณ์ที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากที่สุด เพื่อให้ผู้เรียนสามารถประยุกต์ข้อมูลความรู้ประสบการณ์ที่ได้ไปใช้ในสถานการณ์จริง หรือโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสสร้างความรู้ด้วยตนเองใช้กระบวนการสืบสอบทางวิชาการและผู้เรียนได้มีโอกาสเชื่อมโยงกิจกรรมการเรียนการสอนไปสู่ชีวิตจริงของเขา

ที่มา

ชัยวัฒน์ สุทธิรัตน์. (2554). การจัดการเรียนรู้ตามสภาพจริง. นนทบุรี : สหมิตรพริ้นติ้งแอนด์พับลิสซิ่ง.
ชัยวัฒน์ สุทธิรัตน์. (2552). 80 นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ. กรุงเทพฯ : แดเน็กซ์ อินเตอร์                      คอร์ปอเรชั่น.
ภาวินี เสาะสืบ. http://www.bcnsurin.ac.th/.../1315292551_[ออนไลน์] เข้าถึงเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561.




No comments:

Post a Comment

นวัตกรรมและสื่อการสอนคณิตศาสตร์

นวัตกรรมและสื่อการสอนคณิตศาสตร์ จุ ฑาทิพ ดีละม้าย     ได้รวบรวมและกล่าวไว้ว่า ความหมายของ "นวัตกรรมการศึกษา"      ...